คณะบริหารธุรกิจ ให้ความสำคัญกับสุขภาพของบุคลากรโดยการเชิญทีมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรม และฝึกปฏิบัติการนวดประคบลดปวดออฟฟิศซินโดรม

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 คณะบริหารธุรกิจ จัดโครงการฝึกอบรมทำงานอย่างไรไม่เสี่ยงภัยออฟฟิศซินโดรม ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารคณะบริหารธุรกิจ โดยอาจารย์ ดร.อนิรุธ พิพัฒน์ประภา คณบดีคณะบริหารธุรกิจ เป็นประธานเปิดโครงการและกล่าวต้อนรับคณะวิทยากรแพทย์แผนไทย กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา และอาจารย์ ดร.สุกานดา กลิ่นขจร รองคณบดีฝ่ายบริหาร เป็นผู้กล่าวรายงาน

ภายในกิจกรรม ได้มีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการยศาสตร์และท่าทางการทำงาน โดย พญ.นงนาถ จวนแจ้ง แพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก การบรรยายในหัวข้อออฟฟิศซินโดรมกับการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน การนวดกดจุด และชี่กงบำบัดอาการปวดคอไหล่ โดย พว.วัชรี บุญบำเรอ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ และ พจ.ศิรารัตน์ ภักดีพินิจ นักวิชาการสาธารณะสุขปฏิบัติการ พร้อมสาธิตวิธีการนวดกดจุด ตามจุดต่าง ๆ บนร่างกาย และบรรยายในหัวข้อการดูแลสุขภาพด้วยวิถีไทย ธาตุเจ้าเรือน การนวดด้วยตัวเอง การประคบสมุนไพร การบริหารร่างกายด้วยฤาษีดัดตน โดย พท.ป.อัญชลี ชลเมธีกุล แพทย์แผนไทยชำนาญการ หัวหน้างานแพทย์แผนไทย และ พท.ป.ทศพิธ วรธรรมพิทักษ์ แพทย์แผนไทยปฏิบัติการและทีมแพทย์แผนไทย

จากนั้นในภาคบ่าย เป็นกิจกรรมการฝึกปฏิบัติ ในหัวข้อการนวดประคบลดปวดออฟฟิศซินโดรม โดยทีมแพทย์แผนไทย ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม แยกกันไปตามฐาน โดยมีทั้งหมด 5 ฐาน ประกอบด้วย ฐานที่ 1 การฝังเข็มและการครอบแก้ว ฐานที่ 2 การนวด ฐานที่ 3 การประคบสมุนไพร ฐานที่ 4 การนวดด้วยตนเอง และฐานที่ 5 การบริหารร่างกาย โดยแต่ละกลุ่มจะเวียนไปตามฐานต่าง ๆ จนครบ ทั้งนี้ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ได้ทำการสัมภาษณ์และพูดคุยกับบุคลากรที่เข้าอบรมหลาย ๆ ท่านหลังจากผ่านการฝึกปฏิบัติในแต่ละฐาน ซึ่งทุกคนต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รู้สึกผ่อนคลาย เป็นการคลายความเมื่อยล้าจากการทำงาน และอยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นอีก

สำหรับโครงการฝึกอบรมทำงานอย่างไรไม่เสี่ยงภัยออฟฟิศซินโดรม รับผิดชอบโดยอาจารย์ ว่าที่ร้อยตรี ดร.ศิริชัย โชติสิริเมธานนท์ จัดขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเรื่องสาเหตุและการป้องกันกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndromes) และส่งเสริมให้บุคลากรของคณะบริหารธุรกิจ เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมและจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อการทำงานอย่างปลอดภัย

ธนพร มีมะแม: ข้อมูล
อติโรจน์ วงษ์วัชรศักดิ์: เรียบเรียงข่าว/ภาพ

ดาวน์โหลดอัลบั้มภาพกิจกรรม: 67.05.17 – โครงการฝึกอบรมทำงานอย่างไรไม่เสี่ยงภัยออฟฟิศซินโดรม

Share This Story, Choose Your Platform!

หมวดหมู่

Recent Posts