คณาจารย์สาขาการจัดการ มทร.อีสาน ร่วมขับเคลื่อนงานวิชาการในงานการประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 (TRSI RPN 2024) มุ่งสร้างอนาคตวิจัยและนวัตกรรมไทย
อาจารย์ ดร.เพ็ญพร ปุกหุต, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวลักษณ์ จิตต์น้อม และอาจารย์ ดร.วรอนงค์ โถทองคำ คณาจารย์ประจำสาขาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในงานการประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 (TRSI Research and Development Personal Network Forum 2024) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมเดอะ รีเจนท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี
การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Preparing Today for Tomorrow’s Challenges” โดยมีเป้าหมายในการแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายแห่งอนาคต พร้อมขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนตามกรอบวิสัยทัศน์ “SRI for All” ของศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) โดยใช้กลยุทธ์ SILK ผ่านการเน้นย้ำถึงการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันแบบไร้ขอบเขต (Synergy & Boundaryless) การเสริมสร้างระบบอัจริยะและการกำกับดูแลความรู้ที่มีประสิทธิภาพ (Intelligent SRI System & Knowledge Governance) การลงทุนในเทคโนโลยีล้ำสมัย มุ่งเน้นการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีตอบโจทย์อุตสาหกรรม เป้าหมายและสร้าง New-S-Curve (Leap Technology Investment) และการสร้างระบบ/แพลตฟอร์ม เพื่อนำความรู้ของระบบ ววน. (Knowledge Governance) ที่เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ผลงานที่โดดเด่นของคณาจารย์สาขาการจัดการ มทร.อีสาน
อาจารย์ ดร.เพ็ญพร ปุกหุต ได้นำเสนอผลงานในรูปแบบ Poster Presentation ในหัวข้อ “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการขนส่งทางบก ภายใต้อิทธิพลของคุณภาพการให้บริการและการจัดการคุณภาพ: มุมมองของผู้รับบริการและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวลักษณ์ จิตต์น้อม เป็นผู้ร่วมวิจัย
อาจารย์ ดร.วรอนงค์ โถทองคำ ได้นำเสนอผลงานในรูปแบบ Oral Presentation ในหัวข้อ “ความเข้าใจการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 บนพื้นฐานของทฤษฎีแบบจำลองด้านจิตวิทยา”
การประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 (TRSI Research and Development Personal Network Forum 2024) ถือเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างบุคลากร นักวิจัย และองค์กรต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนทรัพยากรในระบบ SRI Ecosystem ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างอีกด้วย
ดร.เพ็ญพร ปุกหุต: ข้อมูล/ภาพประกอบ
อติโรจน์ วงษ์วัชรศักดิ์: เรียบเรียงข่าว